Tuesday, 6 September 2016

การเขียน CV เพื่อสมัครงานในยูเค

CV คืออะไร?

CV (ซีวี) ย่อมาจาก..
Curriculum vitae (เคอริค'คิวลัม ไว'ที) n.ประวัติส่วนตัวโดยสังเขป

CV เป็นเอกสารสมัครงานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะหลายประเทศในภูมิภาคยุโรป เอเชียและตะวันออกกลาง อาจมีรูปแบบแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศแต่เนื้อหาหรือใจความสำคัญยังคงเหมือนกัน

ส่วน เรซูเม่ - Resume เอกสารสมัครงานอีกแบบหนึ่งนั้นจะใช้แพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา
ในการเขียน CV เราจะต้องใส่ข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับประวัติการศึกษาและการทำงานต่างๆ รวมถึงงานเขียน งานวิจัย งานจิตอาสา กิจกรรม เกียรติคุณหรือรางวัลต่างๆ เป็นเอกสารที่มักใช้กันเวลาสมัครขอทุนการศึกษาหรือวิจัยจากหน่วยงานรัฐ หรือสมัครงานที่เกี่ยวข้องกับการสอนหรือวิชาการ

ซีวีคือชีวประวัติหรือประวัติฉบับร่ายยาว
เรซูเม่คือประวัติย่อหรือประวัติฉบับสั้น



ลำดับการเขียน CV
1. ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรบ้าน มือถือ และ อีเมล ควรใส่ให้ครบเพื่อความสะดวกในการติดต่อ 

2. ประวัติส่วนตัว (Personal statement หรือ Personal profile) อุปนิสัย คุณสมบัติทั้งในการทำงานและการดำเนินชีวิต รวมถึงทักษะความสามารถด้านต่างๆ 

3. ประวัติการทำงาน เริ่มต้นจากงานล่าสุดหรืองานปัจจุบัน

4. ประวัติการอบรม และประกาศนียบัตรต่างๆ

5. ประวัติการศึกษาสูงสุด

6. ความสนใจและงานอดิเรก อาทิเช่น ชอบการทำอาหาร เล่นกีฬา

7. บุคคลที่สามารถอ้างอิงได้ "Reference" คือบุคคลที่รู้จักเราที่ไม่ใช่คนในครอบครัว ซึ่งควรจะมีหน้าที่การงานที่เชื่อถือได้อย่างน้อยสองคน ระบุชื่อ เบอร์โทร และอีเมลสำหรับติดต่อ
หากระบุว่า "Reference on request" หมายความว่าผู้ว่าจ้างจะติดต่อขอรายละเอียดบุคคลอ้างอิงโดยตรงจากผู้สมัครงาน กรณีนี้จะรักษาความเป็นส่วนตัวของบุคคลอ้างอิงได้มากขึ้น



ตัวอย่างการเขียน CV
ตัวอย่างการเขียน CV หน้า 1
ตัวอย่างการเขียน CV หน้า 2






เทคนิคการเขียน CV

จงซื่อสัตย์ สิ่งหนึ่งที่คุณต้องจำให้ขึ้นใจก็คือ นายจ้างอาจจะตรวจสอบความถูกต้องของสิ่งที่คุณเขียนลงไปในCV รวมถึงสืบประวัติส่วนตัว รางวัลที่คุณได้รับ ประสบการณ์การทำงาน รวมถึงประวัติการศึกษา ดังนั้นจึงจำเป็นมากที่คุณจะไม่เขียนเรื่องโกหกลงไป โดยเฉพาะประสบการณ์การทำงานและผลงานของคุณ

กระชับและชัดเจน

ใส่ความคิดเห็นส่วนตัว นายจ้างไม่ได้พิจารณาจากเฉพาะสิ่งที่คุณเคยทำมาเท่านั้น แต่พวกเขายังพิจารณาจากสิ่งที่คุณสนใจ ความทะเยอทะยาน และเป้าหมายของคุณด้วย ดังนั้นจึงเป็นความคิดที่ดีที่จะเขียนถึงสิ่งที่คุณได้รับจากการทำงานในอดีต และสิ่งที่คุณคาดหวังว่าจะได้รับจากงานที่คุณต้องการจะสมัคร

ระมัดระวังเรื่องหลักภาษาและการสะกดคำ

ทำซีวีให้เหมาะกับงานที่สมัคร โดยพิจารณาจากลักษณะของงานนั้นๆ และดูว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับงาน รวมถึงการเรียงลำดับความสำคัญของประวัติ และประสบการณ์ต่างๆด้วย เพื่อที่จะทำให้ CV ของคุณน่าสนใจและมีความเฉพาะทางมากขึ้น

รู้จักตัวเอง เคล็ดลับนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะในการเขียน CV เท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้ในการสัมภาษณ์และการประเมินตนเองด้วย โดยคุณจำเป็นต้องรู้จริงเกี่ยวกับจุดแข็ง จุดด้อย ความสนใจ สิ่งที่คุณต้องการ มีความชัดเจนว่าได้รับอะไรจากสิ่งที่เคยทำมาบ้าง และเป้าหมายที่คุณต้องการในอนาคตคืออะไร เพราะนายจ้างจะประทับใจกับผู้สมัครที่มีความชัดเจนและมีความมั่นใจในตัวเอง รวมถึงเข้าใจถึงบทบาทของบริษัทและลักษณะงานที่ต้องการจะสมัครด้วย นี่คือเหตุผลว่าทำไมคุณไม่ควรที่จะลังเลในการตอบเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้

อัพเดตข้อมูลเสมอ ควรมั่นใจทุกครั้งว่า CV ที่จะยื่นนั้นมีการปรับปรุงหรืออัพเดทข้อมูลใหม่ลงไป

Saturday, 3 September 2016

ธรรมเนียมอังกฤษที่คนไทยควรรู้

ว่าด้วยเรื่องของ..
"ธรรมเนียมอังกฤษที่คนไทยควรรู้"
รวมถึง "วัฒนธรรมแปลกๆที่บางคนยังไม่รู้"
มารู้จักขนบธรรมเนียมและมารยาททางสังคมของคนอังกฤษกันค่ะ


1. การทักทายแบบชนแก้มใช้สำหรับผู้หญิง-ผู้หญิง และผู้หญิง-ผู้ชาย ชนแก้มซ้าย-จุ๊บอากาศ-ชนแก้มขวา-จุ๊บอากาศอีกทีเป็นอันเสร็จพิธี


2. เปิดวงสนทนาด้วยเรื่องดินฟ้าอากาศได้ทุกเวลาทุกโอกาสค่ะ จะนั่งในผับหรือนั่งรอรถเมล์ก็สามารถทำลายความเงียบกับคนข้างๆได้ เช่น "Isn't it good weather today?" "วันนี้อากาศดีเนอะ จริงมั้ย"


3. เวลาไปบ้านเพื่อนควรมีของติดไม้ติดมือไปด้วย ถึงจะไม่ใช่ดินเนอร์หรือปาร์ตี้ ถือขนมถุงน้ำอัดลมไปก็ยังดี


4. เวลามีคนมาที่บ้าน คำถามแรกคือ "Would you like a cuppa?" "ดื่มชาสักแก้วมั้ยคะ"

5. ถ้าไม่รู้ สงสัย ไม่แน่ใจ ขอให้ถาม การถามเยอะๆไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่การทำผิดพลาดเพราะไม่ได้ถามน่าอับอายมากกว่า

6. การพูดภาษาประจำชาติเสียงดังกันต่อหน้าคนอังกฤษ ถือเป็นการเสียมารยาทมากๆ ถ้าจำเป็นต้องพูดไทยกันจริงๆต้องรวบให้สั้นที่สุด และทางที่ดีควรอธิบายต่อเป็นภาษาอังกฤษด้วย

7. การคุยเสียงดังบนรถบัส รถไฟ หรือที่สาธารณะเป็นการเสียมารยาทมาก


8. ขึ้นรถเมล์ทักทายคนขับสักนิด ตอนลงก็พูดขอบคุณด้วยค่ะ


9. การเดินบันไดเลื่อน ถ้าจะยืนเฉยๆให้ชิดขวา ปล่อยทางซ้ายให้ว่างสำหรับคนที่จะรีบเดิน


10. เปิดประตูค้างไว้ให้คนที่เดินมาข้างหลัง และส่งยิ้มพองาม


11. การรักษาเวลาถือว่าสำคัญมากพอกับการรักษาคำพูด ถ้าไม่สามารถไปได้ตามเวลาต้องเลื่อนนัดล่วงหน้า ถ้าสายแค่ 5 นาทีต้องยกเลิกนัดครั้งนั้น


12. คนที่นี่สั่งน้ำมูกเสียงดังๆทุกที่แม้แต่บนโต๊ะอาหาร แค่ใช้ทิชชู่ปิดสักหน่อย แต่การสูดน้ำมูกเข้าไปกลับเป็นการเสียมารยาทมาก


13. เวลาไปร้านฟาสต์ฟู้ดอย่างแม็คโดนัลด์ เคเอฟซี กินเสร็จแล้วเก็บโต๊ะเอาขยะไปทิ้งเองด้วยนะคะ


14. เวลาไปผับดั้งเดิม (Public House) ดื่มเสร็จแล้วก็เอาแก้วไปคืนที่เคาน์เตอร์บาร์


15. ถ้ากินอะไรไม่อร่อย เค้าจะพูดว่ามัน "DIFFERENT" "แปลกดีนะ"


16. การใช้ส้อมที่ถูกวิธีคือใช้จิ้มอาหารชิ้นใหญ่ๆ และวางชิ้นเล็กๆบนหลังส้อม โดยที่คว่ำส้อมเข้าปากเท่านั้น ไม่หงายเหมือนเวลาใช้ช้อน

17. ไม่ควรดูดน้ำเสียงดัง ถ้าเหลือน้ำแข็งเยอะๆก็ทิ้งไปเลยค่ะไม่งั้นจะมีเสียงแน่ๆ ซดน้ำซุปและเส้นก๋วยเตี๋ยวก็อย่าให้มีเสียงเด็ดขาด


18. ห้ามถอดรองเท้าในที่สาธารณะแม้แต่ในห้องเรียนหรือที่ประชุม เท้าเปลือยในที่สาธารณะถือว่าไม่สุภาพพอๆกับตัวเปลือย บ้างก็มีธรรมเนียมที่ไม่ต้องถอดรองเท้าเดินในบ้าน ยกเว้นบางบ้านที่ใส่ถุงเท้าหรือมีรองเท้าสลิปเปอร์ให้แขกใช้

19. ไม่ควรตอบคำถามสั้นๆห้วนๆด้วยคำว่า"Yes"หรือ"No"โดยไม่มีหางประโยค ควรใช้ "Yes, I do" "Yes, I can" "No, I don't" "No, he doesn't" และอื่นๆ แล้วแต่คำถามและสถานการณ์


20. ไอ, จาม หรือหาว ต้องปิดปากทุกครั้ง

21. เรอ ไม่ว่าจะเสียงดังหรือแทบไม่มีเสียง ต้องกล่าวขอโทษทุกครั้ง

22. สะอึกเสียงดังก็ควรจะขอโทษเหมือนกัน ถ้า"Excuse me"บ่อยแล้วพูด"อุ๊บ"แทนก็ได้


23. ขอโทษและขอบคุณบ่อยๆนะคะ การเป็นคนขี้เกรงใจบางครั้งก็เป็นสิ่งที่ดี คำที่ควรใช้พูดจนติดปากคือ Please, Thank you, Sorry, Excuse me

ตัวอย่างสถานการณ์ที่สามารถออกเสียง "อุ๊บ.." แบบฉบับชาวบริติช
OOP.. เป็นวิธีแสดงออกถึงความเกรงใจและขอโทษเล็กน้อยค่ะ